C H I A N G D A

ประเพณีอำเภอเชียงดาว

1.ประเพณีตานข้าวใหม่ ประเพณีตานข้าวใหม่และตานข้าวจี่ข้าวหลาม นิยมทำในเดือน 4 เหนือ ขึ้น 15 ค่ำ หรือเรียกวว่าเดือน 4 เป็ง เพราะเป็นช่วงที่มีการเก็บเกี่ยวข้าว และเอาข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ใหม่มาทำบุญ ก่อนที่จะนำไปรับประทาน เป็นประเพณีที่ได้ทำสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ประเพณีตานข้าวใหม่ คนเชียงดาวโดยเฉพาะชุมชนพื้นเมืองล้านนา จะนำข้าวเปลือก ข้าวสารใหม่ ข้าวหลาม ข้าวต้ม ขนมจ๊อก(ขนมเทียน) ห่อนึ่ง อาหารไปตานขันข้าว (เครื่องไทยทานอาหารคาว หวานถวายให้กับผู้ล่วงลับ) และนำข้าวใหม่ไปใส่บาตรทำบุญแด่พระสงฆ์สามเณรที่วัดพร้อมอุทิศส่วนกุศลให้บิดา มารดาและพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว นอกจากนี้ในส่วนของชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์ ยังมีประเพณีเช่นเดียวกับชุมชนพื้นเมืองแต่เรียกต่างกัน ใช้ชื่อว่าประเพณีกิ๋นข้าวใหม่ กำหนดขึ้นในวันที่พระจันทร์เต็มดวง ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับขั้นตอนพิธีกรรมในการเตรียมงาน ทั้งชุมชนลาหู่ที่มีการเฉลิมฉลองยาวนานถึง 7 วันรวมไปถึงพี่น้องลีซู ซึ่งจะมีการตำข้าวปุก หรือข้าวปุ๊ก (ข้าวเหนียวนึ่งมาตำโดยใช้ครกกระเดื่องจนเมล็ดข้าวแหลกรวมกนเป็นเนื้อแป้งคลุกกับงาคั่วและเกลือ ปั้น เป็นแผ่นกลมหนาประมาณ 1 นิ้ว สามารถเก็บไว้ได้นาน) บริเวณลานบ้านเพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมในช่วงกลางคืน ซึ่งก็จะต้องอาศัยแสงจันทร์ช่วยให้แสงสว่าง โดยจะนำเอาข้าวที่เก็บเกี่ยวได้ของแต่ละบ้าน มารวมกันที่ลานหมู่บ้านหรือหากหมู่บ้านไหนที่นับถือคริสต์ จะนำไปรวมกันที่โบสถ์ร่วมอธิฐานหรือทำพิธีทางผีเป็นการขอบคุณที่ทำให้มีผลผลิต ส่วนคนจีนฮ่อหรือจีนพลัดถิ่น ใช้การเฉลิมฉลองในช่วงตรุษจีนเป็นการเริ่มต้นปีใหม่ ในการถวายอาหารแก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว



2. ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่
ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่เป็นประเพณีที่คนในอำเภอเชียงดาวยังถือปฏิบัติ สืบเนื่องมาจากประเพณีงานสงกรานต์หรือวันขึ้นปีใหม่เมือง ที่แสดงออกถึงความเคารพนอบน้อมต่อผู้ใหญ่หรือผู้ที่เคารพนับถือตลอดจนผู้มีพระคุณ เพื่อแสดงความกตัญญู พร้อมกับการขอขมาและขอรับพรเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตัวเองเนื่องในวันขึ้นปีใหม่เมืองในเดือนเมษายน สิ่งที่ต้องนำไปในการรดน้ำดำหัวก็คือ น้ำใส่ขันเงินใบใหญ่ ฝักส้มป่อย โปรยเกสรดอกไม้และ เจือน้ำอบ น้ำปรุงเล็กน้อย พร้อมด้วยพานข้าวตอกดอกไม้เป็นเครื่องสักการะอีกพานหนึ่ง
3. ประเพณีเดือนยี่เป็ง ประเพณีเดือนยี่เป็งหรือประเพณีลอยกระทงซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองของทุกปีประชาชนเกือบทุกคน จะทำบุญตักบาตรฟังเทศน์ในตอนเช้า และเวลากลางคืนจะมีการลอยกระทงตามแม่น้ำหรือในสระน้ำใกล้บ้านของตน และบางครั้งชาวบ้านจะรวมกลุ่มกันจัดทำเป็นกระทงใหญ่ ประดับประดาอย่างสวยงาม แห่ประกวดกันแล้วนำไปลอยแม่น้ำ







4. ปอยหลวง
ประเพณีปอยหลวงมักจัดขึ้นในช่วงเวลาจากเดือน 5 จนถึงเดือน 7 เหนือ (ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน หรือเดือนพฤกษภาคมของทุกปี) ระยะเวลาประมาณ 3-7 วัน ประเพณีปอยหลวง หมายถึงงานฉลองที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งจะเป็นการฉลองถาวรวัตถุของวัดหรือฉลองสิ่วก่อสร้างที่ประชาชนช่วยกันทำขึ้นเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ เพื่อให้เกิดอานิสงส?แก่ตนและครอบครัว ถือว่าได้บุญกุศลแรงมาก นอกจากนี้ยังเป็นเครื่องแสดงถึงความสามัคคีกลมเกลียวของคณะสงฆ์และชาวบ้าน สิ่งสำคัญที่ได้จากการทำบุญงานปอยหลวงอีกอย่างหนึ่งก็คือการแสดงความชื่นชมยินดีร่วมกัน เพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินให้แก่คนในท้องถิ่นโดยการจัดมหรสพ


5. ประเพณีเปรตพลี(เป๋ตะหลี)
ประเพณีเปรตพลี (เป๋ต๊ะพลี) หรือประเพณี 12 เป็ง ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน 10 ของทุกปี ชาวเชียงดาวจะทำบุญถวายอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติของตนที่เสียชีวิตไปแล้ว โดยจะทำบุญถวายเครื่องไทยทาน และฟังเทศน์ 1 กัณฑ์ “กัณฑ์เปรตพลี” ซึ่งมีจุดประสงค์ว่าในช่วงเดือนเพ็ญ 10 พระเจ้าจะเปิดโลกทั้งสามให้สัตว์โลกทั้งหลายได้ใช้ชีวิตของตนตามอัธยาศัย ฉะนั้นญาติพี่น้องของผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วรำลึกถึงและทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้
กลับขึ้นด้านบน